โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย โดยมากมักเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี แม้ว่าอาการของโรคจะทำให้เด็กไม่สบายตัว แต่โดยมากมักไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกายแลสุขภาพของเด็กในระดับที่รุนแรง อย่างไรก็ดี พบกรณีการติดเชื้อบริเวณสมอง (ภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส) ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อมือเท้าปาก แต่เกิดขึ้นจากไวรัสเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นและเกิดขึ้นเฉพาะประเทศในแถบเอเซียแปซิฟิก
โรคมือเท้าปากพบน้อยมากในวัยผู้ใหญ่และเมื่อเกิดขึ้นอาจทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่ไม่สบายตัวอย่างมาก และด้วยเป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างง่ายดาย บุคลากรทางการแพทย์จึงแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยหรืออยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วยจนกว่าอาการเจ็บป่วยจะหายขาด
โรคมือเท้าปากเกิดจากไวรัสต่างชนิดในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัสซึ่งพบได้ในสารคัดหลั่งจากจมูกหรือคอ น้ำเหลืองในแผลพุพองและของเหลวในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ละอองจากการไอหรือจามที่มีเชื้อปนเปื้อนอาจตกลงสัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ หรืออาจลอยอยู่ในอากาศ และเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเมื่อมีผู้สูดละอองดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย และหากผู้ติดเชื้อไม่ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ ผู้ติดเชื้ออาจแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังพื้นผิวของวัตถุต่างๆ ที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส
การแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากพบมากในสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ซึ่งเด็กจำนวนมากต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือใช้กระโถน หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ส่งลูกไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กในบางเวลา ตรวจสอบให้มั่นใจว่าสถานรับเลี้ยงเด็กดังกล่าวมีมาตรการด้านสุขอนามัยที่ดีและได้รับการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ
อาการของโรคมือเท้าปากที่พบโดยทั่วไปมีดังนี้
- มีไข้
- ไม่สบายตัว
- มีจุดแดงที่ไม่คันขึ้นตามร่างกายหรือมีตุ่มน้ำเหลืองใสๆ บริเวณมือและเท้า ในบางกรณีอาจขึ้นบริเวณหัวเข่า ข้อศอก และขาหนีบ และในบางกรณีอาจกลายเป็นแผลพุพองที่ก่อให้ความเจ็บปวด
- เบื่ออาหาร
- แผลร้อนในในปาก
อาการแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากคืออาการขาดน้ำ คุณจึงควรให้เจ้าตัวน้อยดื่มน้ำมากๆ
ล้างมือ (ของคุณและลูก) ให้สะอาดอยู่เสมอ:
ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนการประกอบและรับประทานอาหาร
ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดได้ แนะนำให้ใช้เจลล้างมืออนามัย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ:
โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน:
รวมถึงทำความสะอาดของเล่นและตุ๊กตาต่างๆ ของลูกด้วย
ทำความสะอาดเสื้อผ้าอย่างถูกสุขอนามัย:
ใช้น้ำร้อนในการซักเครื่องนอน เสื้อผ้า และผ้าขนหนูที่อาจสัมผัสกับน้ำลาย ของเหลวจากแผลพุพอง
หรืออุจจาระ